เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ ชั้น 20 ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ชุมผ่านระบบวีดีคอนเฟอร์เร้น โดยมี ผบช.และตัวแทน จากทุก หน่วย เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.ประจวบ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า การขับเคลื่อนการดำเนินการ งานชุมชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน และโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาล (Stronger Together) ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกรูปแบบ โดยบูรณาการการดำเนินการจากทุกภาคส่วน ผนึกกำลังกับเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนา และแก้ไขปัญหาในชุมชน สังคม และท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุก ๆ มิติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยได้จัดทำโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” ให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยมอบหมายให้ตน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน ตาม คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ชุมชน สังคมมีความสุขสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว”
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการคัดเลือกและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสถานีตำรวจ และระดับกองบังคับการทั่วประเทศ จำนวนกว่า 9,000 นาย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชน หลังจากนั้นในห้วงวันที่ 18 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ทำการคัดเลือกและฝึกอบรมเครือข่ายภาคประชาชนจากทุกสาขาอาชีพที่มีบทบาทในสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ เช่น ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น หรืออื่น ๆ สถานีตำรวจละ 50 คนทั่วประเทศ รวมกว่า 74,2000 คน เพื่อทำหน้าที่ในการสะท้อนปัญหา และความต้องการของชุมชน มายังคณะกรรมการระดับสถานีตำรวจ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือเกิดขีดความสามารถ จะเสนอไปยังคณะกรรมการระดับอำเภอ คณะกรรมการระดับกองบังคับการ คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับกองบัญชาการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ความต้องการของประชาชน แต่หากยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำการรวบรวมปัญหา ความต้องการจากทุกพื้นที่ แล้วรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อหาแนวทางการแก้ไขในระดับประเทศต่อไป
โดยการประชุมในวันนี้ (8 มีนาคม 2565) จะเป็นการรับฟังผลการฝึกอบรมเครือข่ายภาคประชาชน ของ บช.น. และ ภ.1 – 9 ตลอดจนปัญหาข้อขัดข้อง เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงต่อไป พร้อมทั้งได้สั่งการให้ บช.น. และ ภ.1 – 9 เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ ฯ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยให้รายงานผลการปฏิบัติทุกเดือน เพื่อรวบรวมปัญหา ความต้องการ ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ รายงานไปยังรัฐบาลต่อไป “ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าว”