วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ บช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. และรองโฆษก บช.น. กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ กรณีวันที่ 2 มี.ค.2565 ได้มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมฯ จำนวน 6 กลุ่ม และ 1 กลุ่มเฝ้าระวัง กลุ่มที่พักค้างแรมมีจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) บริเวณหน้าวัดมกุฏกษัตริย์ เลียบคลองผดุงกรุงเกษม (พักค้างแรม), กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และกลุ่มแนวร่วม บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ (พักค้างแรม)
ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ในจุดอื่นๆมี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เวลา13.00 น., กลุ่มผู้ชุมนุมฯชาวยูเครน บริเวณสถานทูตรัสเซีย เวลา 14.00 น., กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลา 16.00 น., กลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา เวลา 17.30 น. และกลุ่มเฝ้าระวังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง เวลา 17.30 น. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมฯ ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
สำหรับการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และภาคีแนวร่วม, กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.), กลุ่มเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และกลุ่มแนวร่วม, กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-Move,กลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน (สกอ.) และกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (สพอ.), กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร, กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนกลุ่มเฝ้าระวังกลุ่มก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส ไม่พบการรวมกลุ่มของมวลชนในพื้นที่แต่อย่างใด
การดำเนินการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 จนถึงปัจจุบันมี คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมฯ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 827 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 476 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 351 คดี
กรณีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงฯ ของวันที่ 1 มี.ค.2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิด กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และ กลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวน 13 คน ประกอบด้วย 1.) กรณีวันที่ 20 – 23 ม.ค.2565 ได้รวมตัวจัดกิจกรรมชุมนุมฯบริเวณหน้าองค์การประชาชาติ (UN) และปักหลักค้างคืน ทำกิจกรรมแสดงออกต่างๆ ซึ่งการชุมนุมฯ โดยแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิด จำนวน 9 คน, 2.) กรณีวันที่ 2 ก.พ.2565 ได้รวมตัวจัดกิจกรรมแสดงออกซึ่งการชุมนุมฯ บริเวณแยกพาณิชยการ ถนนพิษณุโลก โดยแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิด จำนวน 4 คน
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกัน ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 15) ข้อ 3. การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด และ (ฉบับที่ 14) เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)” โดยได้นัดส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้แก่อัยการในวันที่ 21 มี.ค.2565 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
บช.น. ขอย้ำเตือนไปยังผู้ที่คิดก่อเหตุความไม่สงบ และผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมฯ โดยผิดกฎหมายว่าหากมีการก่อเหตุสร้างความเสียหายสร้างความเดือดร้อนในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวทุกราย และ ขอแจ้งเน้นย้ำว่าขณะนี้แม้กรุงเทพมหานครจะถูกปรับให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่การชุมนุมฯ หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ยังคงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 21 ม.ค.2565, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 1 พ.ย.2564 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จึงขอความร่วมมือประชาชนงดการร่วมกิจกรรมการชุมนุมฯ ต่างๆ เพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยโดยรวมของประเทศชาติและประชาชน