ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์บทความผ่านเฟสบุ๊ค ถายใต้ชื่อเรื่อง “ทำไม!!! ไม่ยอมตอบข้อสงสัย กรณีประมูลรถเมล์ฉาว” โดยระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย 2561 เป็นต้นมา ตนได้โพสต์บทความเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการประมูลรถเมล์เอ็นจีวี 3 บทความ และได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบ้าง ตนได้รับคำชี้แจงจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2 ครั้ง ซึ่งคำชี้แจงของ ขสมก.ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว เป็นคำชี้แจงที่เหมือนไม่ได้ชี้แจง เพราะคำชี้แจงเกือบทั้งหมดไม่ตรงกับคำถามของตนเลย
ดร.สามารถ กล่าวว่า ครั้งแรก ขสมก.ชี้แจงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 พอจับความได้ว่าเป็นการชี้แจงแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังจาก รมว.คมนาคมให้สัมภาษณ์ว่า ขสมก.ได้รับรถจำนวน 100 คัน จากบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 8 พร้อมทั้งได้ชำระเงินไปเรียบร้อยแล้วก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. (บอร์ด ขสมก.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ 20 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าบอร์ด ขสมก.ไม่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ดังนั้น สัญญาที่ทำไว้แล้วนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดร.สามารถ กล่าวต่อไปว่า จากคำสัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคมดังกล่าวข้างต้น ตนได้แย้งไปว่า ขสมก.ไม่ได้รับรถ 100 คัน และไม่ได้จ่ายเงินก่อนศาลมีคำสั่ง โดยได้อ้างคำพิพากษาของศาลซึ่งระบุไว้ว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (หมายถึง ขสมก. และบอร์ด ขสมก.) กล่าวอ้างว่า คู่สัญญา (หมายถึง ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์) ส่งมอบและได้รับรถยนต์ปรับอากาศตามสัญญาไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 จำนวน 100 คัน เห็นว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐาน ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถจัดส่งหลักฐานต่อศาลได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการตรวจรับรถยนต์หรือบันทึกรายงานผลการตรวจรับพัสดุ” นั่นหมายความว่า ขสมก.ไม่สามารถส่งหลักฐานการรับรถให้ศาลได้ เมื่อไม่มีหลักฐานก็ชี้ว่าไม่มีการรับรถและไม่มีการจ่ายเงิน
“ขสมก.ชี้แจงคำโต้แย้งของผมว่า คณะกรรมการตรวจรับได้ดำเนินการตรวจรับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 แต่ได้ทำรายงานเสนอรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง ถามว่าถ้ามีการรับรถจำนวน 100 คัน ก่อนวันที่ศาลจะมีคำสั่งจริง แล้วทำไม ขสมก.จึงไม่ยื่นหลักฐานการรับรถให้ศาล ที่สำคัญ ทำไม ขสมก.ไม่ยอมตอบว่าไม่มีการจ่ายเงินก่อนวันที่ศาลจะมีคำสั่ง เป็นเพราะกลัวจะขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคมที่บอกว่าจ่ายเงินไปแล้ว ใช่หรือไม่?” ดร.สามารถ กล่าว
ดร.สามารถ กล่าวด้วยว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 ขสมก.ได้ชี้แจงกรณีที่ตนให้สัมภาษณ์รายการสืบจากข่าว ซึ่งเป็นการชี้แจงเหมือนไม่ได้ชี้แจงเช่นเดิม เพราะแทบไม่ได้ตอบคำถามของตนเลย มีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นที่พอจะตรงประเด็นบ้าง นั่นคือ ขสมก.ชี้แจงคำถามที่ตนถามว่าทำไม ขสมก.จึงยอมทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งๆ ที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าราคากลางของ ขสมก.ถึง 240 ล้านบาท โดย ขสมก.ชี้แจงว่าสามารถทำได้ตามเกณฑ์ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 การชี้แจงดังกล่าวทำให้ตนอยากพูดถึงการกำหนดราคากลางของ ขสมก.ว่าเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ราคากลางของ ขสมก.คิดเป็นเงินประมาณ 4,020 ล้านบาท แบ่งเป็นราคาค่ารถ 489 คัน เป็นเงินประมาณ 1,735 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้ประมาณ 3.5 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินประมาณ 2,285 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้ประมาณ 4.7 ล้านบาท แต่ราคาที่ ขสมก.ตกลงทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์คือประมาณ 4,260 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลาง 240 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ารถประมาณ 1,891 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้ประมาณ 3.86 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงรักษาประมาณ 2,369 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้ประมาณ 4.8 ล้านบาท
ดร.สามารถ กล่าวเพิ่มว่า เกี่ยวกับราคากลางโดยเฉพาะค่าซ่อมบำรุงรักษาดังกล่าวข้างต้น ตนขออ้างคำพิพากษาของศาลซึ่งระบุไว้ว่า ค่าซ่อมบำรุงรักษาเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าราคารถมาก เงินที่ใช้จัดซื้อจัดจ้างล้วนเป็นเงินของรัฐที่มุ่งหมายให้ได้พัสดุที่จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นสำคัญ ดังนั้น หากให้มติของบอร์ด ขสมก. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ 20 ธันวาคม 2560 มีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากรที่ยากจะเยียวยาและแก้ไขในภายหลัง อ่านเพียงแค่นี้ก็พอรู้ว่าราคากลางของ ขสมก.สูงอยู่แล้ว ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างที่ราคาสูงกว่าราคากลางย่อมไม่เหมาะสมแน่นอน
ที่น่าแปลกมากก็คือ ขสมก. ไม่ยอมตอบข้อสงสัยของตนที่ได้ถามไว้ดังนี้
1. ทำไมจึงเชิญบริษัทให้เข้าร่วมประมูลโดยให้เวลาสั้นมากในการเตรียมเอกสารซึ่งมีจำนวนมาก หากบริษัทใดไม่ได้รับข้อมูลภายในล่วงหน้ามาก่อน จะไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทันแน่
2. ทำไมจึงต้องเชิญบริษัทถึง 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่ การเชิญครั้งแรกก็มีจำนวนบริษัทครบตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้ว
3. จากการที่มีเวลาเตรียมเอกสารสั้นมาก ทำให้มีบริษัทยื่นประมูลแค่ 2 บริษัทเท่านั้น ประกอบด้วย ช.ทวีซึ่งได้รับเชิญในครั้งที่ 1 และสแกนอินเตอร์ซึ่งได้รับเชิญในครั้งที่ 2 แต่บริษัททั้งสองจับมือกันตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน เสมือนเป็นบริษัทเดียว ถามว่าอะไรทำให้ ช.ทวีต้องยอมจับมือกับสแกนอินเตอร์ ทั้งๆ ที่ หาก ช.ทวีไม่ยอมจับมือก็สามารถชนะได้อยู่แล้ว อีกทั้ง จะเสนอราคาได้ถูกกว่าด้วย เพราะ ช.ทวีเคยเสนอราคา 3,800 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2558 มาแล้ว แต่พอมาร่วมกับสแกนอินเตอร์กลับเสนอราคาสูงขึ้นเป็น 4,260 ล้านบาทในปี พ.ศ.2560 หรือสูงขึ้นจากเดิมถึง 460 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นประมาณ 6% ดังนั้น ราคาที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอจะต้องต่ำกว่า 3,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ หลังจากศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว ผู้บริหารของ ขสมก.บางคนยังเดินทางไปดูงานการผลิตเกียร์รถเมล์ที่ ขสมก.ใช้ติดตั้งในรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 2561 ซึ่งตนมีข้อสังเกตในการดูงานครั้งนี้ ดังนี้
1. ผู้บริหารบางคนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการตรวจรับรถเลย แต่ได้รับอนุมัติให้ไปดูงานในฐานะผู้แทน ขสมก.
2. ในระหว่างการดูงาน ผู้แทน ขสมก.ได้แจ้งปัญหาการใช้เกียร์ในรถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก.รับมอบแล้ว 100 คัน เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตปรับปรุงแก้ไข ถามว่าถ้าเกียร์มีปัญหาในการใช้งาน แล้ว ขสมก.รับรถมาได้อย่างไร?
3. ผู้บริหารบางคนที่ร่วมเดินทางไปดูงานด้วยได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ ถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา เพราะเป็นการ “รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา” และที่น่าสนใจอย่างมากก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการร่วมไปดูงานครั้งนี้ใครเป็นคนจ่ายให้ เป็นไปได้หรือที่ผู้บริหารซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ไปร่วมดูงานจะจ่ายเอง?
“หาก รมว.คมนาคม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ในการกำกับดูแล ขสมก. ยังคงนิ่งเฉย ไม่ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวและมีการร้องเรียนว่าการประมูลครั้งที่ 8 เป็นการประมูลที่ไม่โปร่งใส คงมีความจำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องลงมาแก้ปัญหาโดยด่วน มิฉะนั้น พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต้องรอกันอีกนานกว่าจะมีรถเมล์ใหม่ใช้ได้อย่างทั่วถึง” ดร.สามารถ กล่าว
[fb_pe url=”https://www.facebook.com/Dr.Samart/posts/1294686190676281″ bottom=”30″]