“ฟอกเงินจะกลับมาใช้ใหม่หรือไม่”

คงจะจำกันได้ดีว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 7/2563 ว่า มาตรา 37 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงไม่สามารถนำมาใช้ในการชี้มูลให้การหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งรวมตลอดถึงการยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องด้วย ส่งผลให้มาตรา 37 ตรี สิ้นผลบังคับไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2564 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2564 คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญมากและได้วางหลักการตีความกฎหมายไว้หลายประการซึ่งเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีอย่างเราๆ ท่านๆ

การเพิ่มมาตรา 37 ตรี ไว้ในประมวลรัษฎากรดังกล่าว เกิดขึ้นโดยผลของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ไม่นานนักกรมสรรพากรก็จำต้องชี้มูลความผิดทางภาษีเป็นคดีแรกของผู้ประกอบการทัวร์ศูนย์เหรียญที่เกิดขึ้นก่อนหน้าปี พ.ศ. 2560 ก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ โดย ปปง. ยืนยันว่า แม้การใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีอาญาย้อนหลังจะกระทำมิได้ แต่หากใช้เพื่อดำเนินคดีทางแพ่งซึ่งได้แก่การยึดทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว สามารถกระทำย้อนหลังได้เนื่องด้วยมีบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 40-41/2546 วางไว้แล้ว

นับจากนั้นเป็นต้นมา มาตรา 37 ตรี ก็ถูกหยิบยกมาใช้ในบริบทของการตรวจสอบภาษีอยู่เนือง ๆ ทำให้ผู้เสียภาษีหลายรายแม้จะเชื่อในการตีความที่สุจริตใจของตนเองก็ตาม ไม่กล้าต่อสู้คดีและยอมตกลงระงับข้อพิพาทกับเจ้าพนักงานตรวจสอบ เนื่องจากเกรงว่า หากพลาดพลั้งไปในขั้นตอนของศาลอาจต้องถูกยึดทรัพย์ในที่สุด นอกเหนือไปจากการต้องหาเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากร มาตรา 37 ตรี จึงกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตรวจสอบภาษีย้อนหลังและกดดันให้ผู้เสียภาษีต้องยุติข้อพิพาทเพื่อแลกกับการไม่ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานของกรมสรรพากรชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ ปปง. ดำเนินคดี

ประเด็นที่น่ากังวลในการใช้กฎหมายอย่างมากได้แก่ แม้ว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 37 ตรี ต้องกระทำในลักษณะที่เป็น  “กระบวนการหรือเป็นเครือข่าย” ซึ่งไม่ปรากฏนิยามที่ชัดเจนในประมวลรัษฎากรว่าจะต้องมีจำนวนบุคคลที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เจ้าพนักงานตรวจสอบหลายรายถือว่าหากมีผู้ร่วมกระทำตั้งแต่สองคนขึ้นไป ก็ถือได้แล้วว่าเป็น “กระบวนการหรือเป็นเครือข่าย” ดังนั้น ผู้เสียภาษีที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายย่อมจะต้องมีพนักงานฝ่ายบัญชีและกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วยเสมอ ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานตรวจสอบบางรายหยิบยกประเด็นการชี้มูลความผิดขึ้นมากดดันให้ผู้เสียภาษีต้องยอมยุติข้อพิพาท

ศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ได้วางหลักการที่สำคัญสองประการ กล่าวคือ การใช้กฎหมายย้อนหลังแม้จะเป็นมาตรการในทางแพ่ง เช่น การยึดทรัพย์ จะกระทำไม่ได้และมีผลไม่ต่างจากการริบทรัพย์สินซึ่งเป็นบทลงโทษในคดีอาญา กรณีต่างจากความผิดมูลฐานดั้งเดิมอันเป็นที่มาของคำวินิจฉัยที่ 40-41/2546 ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ยาเสพติด ก่อการร้าย ค้ามนุษย์ ซึ่งกฎหมายต้องการตัดวงจรทางการเงินให้สิ้นซาก แต่ปัจจุบันมูลความผิดถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุมฐานความผิดที่ไม่ร้ายแรงด้วย จึงจำต้องตีความเคร่งครัดและต้องพิจารณาเป็นรายมูลฐานไป ดังนั้น จึงมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ลำพังแต่เพียงประเด็นการใช้มาตรา 37 ตรี ย้อนหลัง คงไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก เนื่องจากกรมสรรพากรไม่พึงใช้กฎหมายย้อนหลังแต่แรกแม้ว่าจะเป็นมาตรการทางแพ่งก็ตาม เนื่องจากมีสภาพบังคับและเป็นบทลงโทษต่อประชาชน จึงไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ประเด็นที่สำคัญในคดีนี้ได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวต่อไปว่ามาตรา 37 ตรี มีผลเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคหนึ่ง และหากถือว่าเป็นกรณีความผิดเกี่ยวกับภาษีที่ร้ายแรง (serious tax crime) ก็สมควรจะกำหนดเพิ่มให้เป็นความผิดมูลฐานในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยตรง เพื่อให้เห็นความมุ่งหมายและการใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน เพราะหากปล่อยให้กฎหมายต่าง ๆ เพิ่มบทบัญญัติให้ความผิดของตนเป็นความผิดมูลฐานได้ตามใจชอบ ก็จะไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเป็นการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพและทรัพย์สินของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคหนึ่ง และอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยไม่ชอบธรรม เป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลเกินความจำเป็น

ด้วยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในประการหลังนี่เองที่มีผลให้การใช้บังคับมาตรา 37 ตรี ต้องสะดุดลงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ย้อนหลังกับความผิดที่ได้กระทำก่อนวันที่ 2 เมษายน 2560 ก็ตาม คำถามที่สำคัญก็คือรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไปกับมูลฐานความผิดทางภาษีดังกล่าว

หลายท่านคงจำกันได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 ตรี ในประมวลรัษฎากรนั้น เกิดจากพันธะกรณีที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ จำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ Financial Action Task Force หรือ FATF ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กำหนดมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ให้เพิ่มความผิดเกี่ยวกับภาษีที่ร้ายแรงหรือ serious tax crime ให้เป็นความผิดมูลฐานของการฟอกเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ปปง. มานานแล้ว แต่ประเทศไทยก็มิได้ดำเนินการดังกล่าวจนเกิดเหตุการณ์ที่คนไทยหลายรายที่มีบัญชีธนาคารในต่างประเทศเพื่อการประกอบธุรกิจ ถูกธนาคารของกลุ่มประเทศ จี 7 สั่งปิดบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุหลายรายด้วยกัน จนนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 ในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยุติลง

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังไม่ดำเนินการแก้ไขโยกย้ายมาตรา 37 ตรี ไปไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้เหมาะสม ไม่ช้าก็เร็ว คนไทยที่ต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศก็คงจะต้องประสบกับมาตรการบีบบังคับทางอ้อมของกลุ่มประเทศ จี 7 อีกรอบ และเราก็อาจจะได้เห็นการแก้ไขกฎหมายในมูลฐานความผิดเรื่อง serious tax crime อีกครั้งหนึ่ง

โดย ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์

นางสาว ปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต

บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img