โดย นางสาวพรรณิการ์ กล่าวเปิดโครงการ ว่าการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกในเขตกทม. หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะก้าวหน้าปรับการทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนทางช่องทางออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งวันนี้ตนดีใจ ที่ได้มีโอกาสมาร่วมทำกิจกรรม และพบปะผู้สนับสนุน ปัจจุบันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง การดำรงชีวิตในลักษณะพึ่งพาตนเองเช่นนี้ทำได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา อำนาจในการครอบงำการได้มาซึ่ง “อาหาร” ถูกกำหนดทั้ง ราคาผลผลิต ปัจจัยการผลิต รูปแบบการผลิต รวมทั้งการกำหนดว่าสิ่งใดควรเป็นหรือไม่เป็น “อาหาร” ทั้งหมดล้วนอยู่ในขอบข่ายการจัดการ Food Supply Chain ของบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท สังคมและชุมชน ผู้ผลิตและผู้บริโภค ถูกกำหนดให้ผลิตและบริโภค โดยแยกขาดจากกันทั้งทางตรงและทางอ้อม
การที่คณะก้าวหน้าสนับสนุนให้ชุมชนผลิตอาหารเพื่อปันกันบริโภค หรือ บริโภคเองในชุมชน หรือสนับสนุนให้เกิด “ระบบตลาดทางตรง” ของผู้บริโภค-ผู้ผลิต จะทำให้เกิดความเหนียวแน่นเข้มแข็งในชุมชน ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ในราคาที่เป็นธรรม การขนส่งก็ทำในระยะทางอันใกล้ ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยเท่ากับเป็นทั้งส่งเสริมการผลิตอาหารที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยโครงการปลูกผักที่กำลังเริ่มต้นในวันนี้ จุดมุ่งหมายคือเมื่อมีการปลูกผักเกิดขึ้นในหลากหลายชุมชน ย่อมสร้างความต้องการในการจัดการขยะสดของชุมชนที่มีเหลือล้นในทุกๆวัน โดยแปรเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำมาใช้ปลูกผัก