นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร Fan page‘ กล่าวถึงระบบการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปว่า คณิตศาสตร์เลือกตั้ง ตอนที่ 2 ทุนประเดิมพรรคการเมือง 1 ล้านบาท มาตรา 141 (3) พรป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมือง ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 การได้มาซึ่งทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท สำหรับพรรคใหม่และพรรคเก่ามีเงื่อนไขแตกต่างกัน. สำหรับพรรคเก่าสามารถนำเงินที่มีอยู่ในบัญชีของพรรค หรือ ตีมูลค่าทรัพย์สินที่มี รวมเป็นทุนประเดิมหนึ่งล้านบาทได้ แต่พรรคใหม่ กลับกำหนดวิธีการที่ให้สมาชิกก่อตั้ง 500 คน ต้องมีส่วนร่วมในการสละเงินเป็นทุนประเดิมอย่างทั่วหน้า คือ ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทและไม่เกินห้าหมื่นบาท ต่อสมาชิกก่อตั้งหนึ่งคน
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า แค่หาสมาชิกก่อตั้งห้าร้อยคนก็เป็นเรื่องยาก. ยังต้องให้สมาชิกห้าร้อยคนแรก มีส่วนในการเสียสละเงินเป็นทุนประเดิมขั้นต่ำ 1,000 บาท ยิ่งดูยากเย็นมากขึ้น หนำซ้ำในมาตรา 30 ของ พรป.พรรคการเมือง ยังห้ามพรรคหรือผู้ใด เสนอให้เงินหรือทรัพย์สิน ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมเพื่อจูงใจสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งมีโทษแรงถึงจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี. เป็นการปิดประตูกรณีจะมีคนออกเงินแทนกันอีก ทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท. ภายใต้เงื่อนไขสมาชิกก่อตั้ง 500 คน ต้องมีส่วนร่วมในการบริจาคนี้ คำนวณด้วยหลักคณิตศาสตร์ง่ายได้สองแบบ ผมเรียกว่า แบบเฉลี่ยทุกข์ และ แบบเฉลี่ยสุข ดังนี้
แบบที่หนึ่ง แบบเฉลี่ยทุกข์
คือให้ทุกคนมีส่วนในการเสียสละเท่าเทียมกัน จึงเป็นสมการดังนี้
500 คน x 2,000 บาท = 1,000,000 บาท
แบบนี้ คือให้ทุกคนเสียสละบริจาคเท่าๆกัน ในอัตราคนละ 2,000 บาท ก็จะได้ทุน.
ประเดิมตามกฎหมายกำหนด
แบบที่สอง แบบเฉลี่ยสุข
สูตรนี้จะเป็นสูตรคนมีเงินมาก ช่วยคนที่มีเงินน้อยกว่าให้มีความสุข. สมการจะเป็นดังนี้
(11 คน x 50,000 บาท) + (489 คน x 1,000 บาท) = 1,039,000 บาท
แบบนี้ จะต้องมีคนรวยจำนวน 11 คนยอมจ่ายมากหน่อย เพื่อให้คนจนจ่ายน้อยที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด ต่ำกว่านี้ ไม่ครบล้าน
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า คนเขียนกติกา เขาต้องการให้พรรคเข้มแข็ง มีคน มีเงิน ในระดับหนึ่ง ถึงอาสาตัวเข้ามา จึงเป็นประเด็นต้องติดตามต่อไปว่า ท้ายสุดจะเป็นดังที่ต้องการหรือไม่
“ถึงจะกำหนดว่ามีเวลา 180 วัน หลังจาก 1 เมษายน 2561 หรือไปถึงประมาณต้นตุลาคมปีนี้. แต่อย่าชะล่าใจ เพราะหาก พรป.ส.ส. และ ส.ว. ผ่านสนช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กกต. กรธ. ประธานสนช. และ ผู้แทนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เพื่อกำหนดแผนขั้นตอนการดำเนินการไปสู่การเลือกตั้ง จังหวะนั้นจะรู้ว่า การเลือกตั้งจะช้าหรือจะเร็วกว่าที่คิด” นายสมชัย กล่าว