ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย รองอธิการบดี 4 คน คณบดี 10 คณะ ผู้อำนวยการสถาบัน 5 สถาบัน และผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน ได้ร่วมกันลงนามในหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ทบทวนการแจ้งความดำเนินคดีกับ 8 นักกิจกรรมในนามกลุ่ม “People Go Network” ซึ่งจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” พร้อมทั้งผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปโดยสันติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ในนามของ People Go Network ได้จัดกิจกรรม We Walk ‘เดินมิตรภาพ’ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพ ทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นกิจกรรมที่วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา นั้น

เนื่องจาก คสช. ได้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีผู้จัดกิจกรรมจำนวน 8 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามมิให้มั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นอาจารย์ที่เป็นคณบดีคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

ในฐานะที่กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นชุมชนทางวิชาการและเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเสมอมา รองอธิการบดีที่รับผิดชอบพื้นที่ศูนย์รังสิต ร่วมผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านอื่น อันประกอบด้วยรองอธิการบดี 4 คน คณบดี 10 คณะ ผู้อำนวยการสถาบัน 5 สถาบัน และผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนึ้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้สิ้นสภาพลงไปแล้ว นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มี่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำสั่งของ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ในเมื่อประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องกลายเป็นเรื่องยกเว้น มิใช่เรื่องหลักอีกต่อไป

ดังนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่ ‘ห้ามมั่วสุมประชุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป’ ซึ่งเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความและใช้อำนาจนี้อย่างกว้างขวาง ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรต้องทบทวนที่จะบังคับใช้ต่อไป มิเช่นนั้นแล้ว จะเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผ่านการลงประชามติและประกาศใช้แล้ว ยังคงไม่มีผลบังคับใช้ และเท่ากับว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

2.ประเทศไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแมปกลับสู่สภาวะปกติ คสช. จึงควรเปิดกว้างมากขึ้น และให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพภายในขอบเขตของกฎหมายและภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ดังที่ ท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวหลายครั้งว่า ประชาชนอย่าเอาแต่รอรัฐบาล แต่ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศด้วย การแสดงออกของประชาชนภายในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยสันติวิธี จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน การดำเนินคดีต่อผู้จัดกิจกรรมการแสดงออกใดๆ ควรจะดำเนินการต่อเมื่อผู้จัดกิจกรรมฝ่าฝืนกฎหมายปกติเท่านั้น

3.การจัดกิจกรรม We Walk ‘เดินมิตรภาพ’ ที่กำลังเดินไปตามถนนมิตรภาพโดยมีปลายทางที่จังหวัดขอนแก่นนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคมโดยใช้วิธีการเดินรณรงค์ ทำนองเดียวกับการจัดวิ่ง หรือขี่จักรยาน หรือกิจกรรมรณรงค์รูปแบบอื่นในทำนองเดียวกัน คสช. จึงไม่ควรถือว่าเป็น ‘การมั่วสุมประชุมทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลปกครองได้มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและต้องอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการชุมนุม จึงไม่ควรมีการดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 อีก

โดยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามรายนามข้างท้าย จึงใคร่ขอให้ คสช. โปรดทบทวนการดำเนินการกับผู้จัดกิจกรรมทั้ง 8 คน รวมถึงผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปอย่างสันติ ในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ขอให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี อาจถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้กลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอีกต่อไป อันไม่เป็นผลดีต่อประชาชน ภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และต่อ คสช. เองด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล​

รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต

2.รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

3.ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล

รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

4.รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ ประเสริฐสุข

รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

5.รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ อุดร​​

คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

6.รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล​

คณบดีคณะรัฐศาสตร์

7.รองศาสตราจารย์ ดร. ชยันต์ ตันติวัสดาการ

​คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

8.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์​​

คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

9.รองศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล​

​คณบดีคณะศิลปศาสตร์

10.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์​

คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์

11.รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ชคตระการ

​คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

12.รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย​​

คณบดีคณะแพทยศาสตร์

13.รองศาสตราจารย์ ดร. ธีร เจียศิริพงษ์กุล​​

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์

14.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา​

คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

15.อาจารย์ ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์

​ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย

16.รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์​

ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา

17.อาจารย์ ดร.ปกป้อง ส่องเมือง​ผู้อำนวยการ

สำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

18.อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์

​ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา

19.รองศาสตราจารย์ ดร. สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน

​ผู้อำนวยการสถาบันภาษา

20.อาจารย์ ดร.อดิศร จันทรสุข

​ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

21.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริยา ณ นคร​

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

22.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง

23.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ

​ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์

24.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์

​ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ​

25.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว​

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร

26.นายบุญสม อัครธรรมกุล​

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์