“กวก. เพชรบุรี 3”สับปะรดพันธุ์ใหม่ รสชาติดี วิตามินซีสูง
กรมวิชาการเกษตร โชว์ สับปะรดบริโภคสดพันธุ์ใหม่“กวก. เพชรบุรี 3”ให้ผลผลิตสูง เนื้อแน่น นุ่มละเอียด สีเหลืองเข้ม รสชาติดี วิตามินซีสูง
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯมุ่ง“ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเกษตร”เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร สร้างโอกาสให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แนวคิด“เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”กรมวิชาการเกษตร
ได้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ “สับปะรด กวก. เพชรบุรี 3” นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเกษตรไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาพืชผลที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้สูงและรสชาติดี เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งในปี 66 การส่งออกสับปะรดผลสดมีมูลค่าสูงถึง 913 ล้านบาท มีการขยายตัวมากถึง 299 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 64 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง
229 ล้านบาท โดยมีจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกมีส่วนแบ่งการตลาด 86 %
น.ส.มัลลิกา นวลแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3” เป็นสับปะรดลูกผสมสายพันธุ์ SPPV#51 ได้มาจากการคัดเลือกลูกผสมระหว่างสับปะรดพันธุ์สิงคโปร์ปัตตาเวียและปัตตาเวีย โดยใช้วิธีการคัดเลือก สายต้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีตั้งแต่ปี 39 ได้สร้างประชากรลูกผสมสำหรับ การคัดเลือกจาก 3 คู่ผสม ได้แก่ สิงคโปร์ปัตตาเวีย×ปัตตาเวีย (SPPV), ปัตตานี×ปัตตาเวีย (PNPV) และ ตราดสีทอง×ปัตตาเวีย (TTPV) จนได้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีลักษณะเด่นตามที่ต้องการคือ ให้ผลผลิต 7.20 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทองซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ 33 % ลักษณะผลใหญ่ ให้ปริมาณวิตามินซีสูงถึง 30.03 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทอง 23% เนื้อแน่น นุ่มละเอียด สีเหลืองสวย รสชาติหวานหอม “สับปะรด กวก. เพชรบุรี 3”เป็นสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงและวิจัยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 39-66 จึงได้พันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิอากาศและดินในประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อโรคยอดเน่าและโรครากเน่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่มักพบในการเพาะปลูกสับปะรดทั่วไป ที่สำคัญยังช่วยลดการใช้สารเคมีในการดูแลทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุน ในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในปี 67 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี มีต้นแม่พันธุ์ในสภาพแบบปลอดเชื้อ 3,000 ต้น ซึ่งจะสามารถขยายด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ 20,000 ต้น/ปี ในปี 68 ศูนย์วิจัยและพัฒนา การเกษตรเพชรบุรี จะร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่นวางแผนการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่ม 40,000 ต้น ซึ่งสับปะรดพันธุ์ใหม่นี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตร เพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรไทย พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของการพัฒนาพืชผลในอนาคตที่ยั่งยืนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจการเกษตรของไทย เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีโทรศัพท์ 032-772-853” น.ส.มัลลิกา กล่าว.