คดีบุกรุกที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กว่า 5 พันไร่ กลายเป็นประเด็นร้อนอีกคำรบหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่งตั้งโดยอธิบดีกรมที่ดิน มีมติเอกฉันท์เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง เนื่องจากการรถไฟฯไม่มีหลักฐานเป็นข้อยุติว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
นักวิชาการและนักกฎหมายต่างมองว่ามติดังกล่าวขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชนมาเป็นของการรถไฟฯ แต่ไม่มีใครทำอะไรปล่อยเรื่องไว้เกือบสิบปี
“จนเริ่มมีการตรวจสอบเอาผิดกับผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แทนที่จะดำเนินการตามคำตัดสินของศาล กลับตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซ้อนคำพิพากษาว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯหรือไม่ ตั้งเรื่องแบบนี้คือตั้งเรื่องว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาถูกต้องหรือไม่ ล่าสุดมีมติฯไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ว่าไม่มีหลักฐานว่าเป็นของการรถไฟฯทั้งที่มีพระบรมราชโองการมอบที่ดินในรัชกาล 5 เป็นหลักฐานและพระราชกฤษฎีกาสมัยรัชกาลที่ 6 เวนคืนที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ให้แก่การรถไฟฯและยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาถึง 2 ฉบับตัดสินยืนยัน”นายไพศาลระบุและว่าแบบนี้เห็นว่าคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเศษกระดาษหรืออย่างไร…
นายไพศาลยังได้แนะนำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เร่งตรวจสอบไต่สวนชี้มูลคำผิด สำนักงานอัยการสูงสุดและการรถไฟฯต้องเร่งของให้ศาลบังคับคดี ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาของศาลฎีกา
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมัยเป็นฝ่ายค้านเคยนำเรื่องรุกที่เขากระโดงอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า คำสั่งศาลฎีกาถือว่าสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัยจะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา
“เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกา ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่ดินคืนโดยศาลฎีกาวินิจฉัย ที่ดิน 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ เป็นเรื่องของการรถไฟฯต้องดำเนินการต่อ”พ.ต.อ.ทวีระบุ
จากความเห็นดังกล่าวบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าถ้ามีผู้อำนาจมากบารมีกระทำผิดกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจะอยู่ในอาการอ่อนเพลี้ย แถมช่วยหาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อประวิงเวลาถึงขั้นพลิกดำให้เป็นขาวเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจมากบารมี หากคดีนี้ผู้กระทำผิดเป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไป จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มต้นและยึดที่ดินคืนตั้งแต่ยังไม่ส่งเรื่องฟ้องศาลด้วยซ้ำ เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการบังคับคดีในฉับพลัน
แต่คดีนี้หากย้อนดูทีมาเริ่มจากวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตการรถไฟหลวง กำหนดเขตสร้างทางรถไฟฯตั้งแต่นครราชสีมา ไปยังบุรีรัมย์ โดยห้ามเจ้าของที่ดินครอบครองในเขตรถไฟก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ยกให้ซื้อขายหรือเปลี่ยนกับผู้ใดผู้หนึ่ง ห้ามสร้างบ้านปลูกต้นไม้
ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 มีข้อพิพาทระหว่างนายชัย ชิดชอบ และราษฎรบุกรุกที่ดินรถไฟฯ ผลการเจรจานายชัยยอมรับว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯและทำหนังสือขออาศัย การรถไฟฯยินยอม จากนั้นวันที่ 26 ตุลาคม 2515 มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ ละออง ชิดชอบ ถัดมาวันที่ 21 ธันวาคม 2535 ไปขายต่อให้ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์
วันที่ 13 มีนาคม 2557 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษา คดีราษฎร 35 คน ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดินเพื่อขอออกโฉนด ศาลยกฟ้องถัดมาวันที่ 24 กันยายน 2558 ศาลบุรีรัมย์พิพากษายกฟ้องอีกเมื่อราษฎรฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดินเพื่อขอออกโฉนดโดยอ้างหนังสือรับรองขอทำประโยชน์ที่ซื้อมาจากนาย ช. โดยชี้ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ มีการอุทธรณ์และฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าฯการรถไฟฯ จึงให้ฝ่ายกฎหมายฟ้องเพิกถอนสิทธิ์ ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายศักดิ์สยาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลการรถไฟฯ ระหว่างนั้นฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม พร้อมยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ มาถึงปัจจุบันยังไร้คำตอบที่ชัดเจน
หากย้อนดูคดีพิพาทชาวบ้านอยากได้ที่ดินหลวงเริ่มตั้งแต่ปี 2513 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 54 ปี การบังคับใช้กฎหมายยังไร้ผล ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาคงจบเห่นานแล้ว แต่คดีนี้อยู่ในอาการพลิกไปพลิกมาเพราะรู้กันอยู่แล้วว่าเกี่ยวพันกับตระกูลชิดชอบ ตั้งแต่นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา ยันนายศักดิ์สยาม และนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ผู้มีอำนาจมากบารมี จึงไม่ต้องอธิบายให้มากความแล้ว แม้แต่ยุคคสช.มีอำนาจเต็มมือยังยึกยักไม่กล้าหือกล้าอือเลย
ถ้าจะสรุปว่าไม่ว่าเวลาจะทอดยาวแค่ไหนสำหรับประเทศไทย ถ้าคดีความเกิดกับผู้มีอำนาจมากบารมี การบังคับใช้กฎหมายจะไร้ความขลังหรือไม่ระคายผิวแม้แต่น้อย ดังนั้นชาวบ้านธรรมดาอย่างพวกเราจงพึงสังวรไว้ !!!