กรมสุขภาพจิต เผยการฆ่าตัวตายป้องกันได้  ย้ำคนที่พยายามฆ่าตัวตาย คือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง  มีปีละประมาณ 53,000 คน  ทำสำเร็จประมาณ 4,000 คน  อีกกว่า 40,000 คนที่ทำแล้วไม่สำเร็จจะมีโอกาสกระทำซ้ำใหม่สูงกว่าคนทั่วไป  เป็นกลุ่มที่ต้องจับตาและช่วยเหลือ  แนะสังเกต 10 สัญญานเตือน อาทิ ประสบปัญหาชีวิตทั้งเศรษฐกิจหรือสูญเสียคนรัก  หน้าตาเศร้าหมอง เก็บตัว  บ่นท้อแท้ชีวิตในโซเซียลมีเดีย   หากพบต้องรีบช่วยกันดูแล พูดคุยช่วยเหลือโดยเร็ว  อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว  หรือให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

จากกรณีที่มีชายอายุประมาณ 26 ปี กระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่สะพานพระราม 8 เมื่อช่วงบ่ายวานนี้  (5 ส.ค. 2561) นั้น นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  กรมสุขภาพจิตได้ประมาณการว่าในปีหนึ่งๆ ในประเทศไทยจะมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ( Attempt suicide )ประมาณร้อยละ 0.1 ของผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือปีละประมาณ 53,000 คน  ในจำนวนนี้กระทำการสำเร็จประมาณ 4,000 คน   อีกกว่า 40,000 คนที่พยายามทำร้ายตนเองแล้วไม่สำเร็จและมีโอกาสกลับไปทำร้ายตัวเองซ้ำใหม่สูงกว่าคนทั่วไป  คนที่พยายามฆ่าตัวตายจัดเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงประเภทหนึ่ง  ยังไม่ใช่เป็นคนป่วย  ต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขที่ต้นเหตุ 

อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ  รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พบว่า ผู้ที่ทำร้ายตัวเองซ้ำมีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้ที่ทำร้ายตัวเองครั้งแรก  โดยหากประเทศไทยสามารถป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำได้อย่างครอบคลุม จะสามารถลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จได้มากถึงปีละ 350-400 คน หรือคิดเป็น  0.5 ต่อแสนประชากร กรมสุขภาพจิตจึงเน้นการป้องกันและเฝ้าระวังการทำร้ายตัวเองซ้ำ ในคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นมาตรการและตัวชี้วัดที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าภายในพ.ศ. 2564  จะลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จให้เหลือต่ำกว่า 6 ต่อประชากร 100,000 คน  จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากร 100,000  คน

ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร  จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ  กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ในทางวิชาการถือว่า ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการที่บุคคลใดบุคลหนึ่งจะทำร้ายตนเองคือผู้ที่มีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน   ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครอบครัว ญาติ รวมทั้งเพื่อนสนิทใกล้ชิดของผู้ที่มีประวัติดังกล่าว จะต้องคอยดูแลใกล้ชิด  ช่วยประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรับการรักษากับแพทย์ เช่นในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า  หากรักษาที่ต้นเหตุได้ ซึ่งมีทั้งการใช้ยารักษาและกระบวนการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าตัวเองใหม่    ก็จะช่วยได้  

 ประการสำคัญคือการสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยง ที่บ่งชี้ว่าอาจฆ่าตัวตาย  ซึ่งมี 10 สัญญานดังนี้ 1. ประสบปัญหาชีวิต เช่นล้มละลาย  เป็นหนี้  สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ    2. มีพฤติกรรมเปลี่ยนหันมาใช้เหล้าหรือสารเสพติดผิดปกติ  3. มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย  4. แยกตัว เก็บตัว พูดจาน้อยลง  5. บ่นนอนไม่หลับเป็นเวลานาน   6.  พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง 7.พูดหรือบ่นว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่  ซึ่งปัจจุบันมักจะระบายอารมณ์นี้ในโซเซียลมีเดียบ่อยๆ เช่นเฟซบุ้ค อินสตาแกรมของตัวเอง   8. มีอารมณ์แปรปรวนผิดหูผิดตา เช่นจากเดิมเคยเศร้าเป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ   9.เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน  10 .มีการวางแผนเตรียมฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า  เช่นจัดการทรัพย์สิน พูดฝากฝังคนข้างหลัง เป็นต้น     หากพบผู้ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่กล่าวมา  ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย ช่วยเหลือ สอบถามโดยเร็ว   อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ  ส่วนผู้ที่มีปัญหา อย่าอาย สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง   

นายแพทย์ณัฐกรกล่าวต่อว่า กรณีสื่อมวลชนและคนทั่วไป หากมีคลิปหรือภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย   ไม่ควรแชร์หรือเผยแพร่อย่างเด็ดขาด   ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของบุคล และป้องกันการเลียนแบบการฆ่าตัวตายซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้