ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มีการประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรค โดยม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในฐานะประธานในที่ประชุม แจ้งว่า การประชุมพรรคในวันนี้ จะนำไปสู่การจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อตั้งเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายต่อไป ต่อมา ที่ประชุมได้เข้าสู่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจำนวน 7 ตำแหน่ง โดยมีมติดังนี้

1.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย     เป็นหัวหน้าพรรค ด้วยคะแนนเสียง 331 คะแนน ทั้งนี้ ได้มีผู้ร่วมจัดตั้งพรรคเสนอชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นแคนดิเดทในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่นายเอนก ประกาศขอถอนตัว โดยระบุว่าม.ร.ว.จัตุมงคล มีความเหมาะสมมากกว่า

2.นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อดีตอัยการ เป็นเลขาธิการพรรค ด้วยคะแนนเสียง 328 คะแนน

3.น.ส.จุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ เป็นเหรัญญิกพรรค ด้วยคะแนนเสียง 326 คะแนน

4.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ อาจารย์ประจำสถาบันอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นนายทะเบียนพรรค ด้วยคะแนนเสียง 315 คะแนน

5.พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการบริหารพรรค ด้วยคะแนนเสียง 327 คะแนน

6.นายวีระชัย คล้ายทอง อดีตอัยการ เป็นกรรมการบริหารพรรค ด้วยคะแนนเสียง 326 คะแนน

7.นางสุเนตตา แซ่โก๊ะ เป็นกรรมการบริหารพรรค ด้วยคะแนนเสียง 324 คะแนน

ทั้งนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ว่าที่หัวหน้าพรรคฯ กล่าวว่า เมื่อได้รับทาบทามให้มาทำงานกับพรรคนี้ก็ตอบรับในทันที เพราะต้องการแก้ปัญหาประเทศ แม้ว่าการเมืองจะมีความคิดเรื่องการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่ตนตั้งใจว่าฝ่ายค้านจะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล ฟังความเห็นซึ่งกันและกัน หาคำตอบที่ดีที่สุดกับบ้านเมือง เพื่อให้ประเทศอยู่ได้ ไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองเพื่อทะเลาะกัน เพราะประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ และเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญใหม่ วิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้พรรคการเมืองที่ชนะเสียงข้างมากมีโอกาสน้อย จึงน่าจะเป็นรัฐบาลผสม

“เชื่อเหมือนกับนายสุเทพ ว่า พรรค รปช.มีโอกาสเป็นรัฐบาล ส่วนจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยังไม่มีประโยชน์ที่จะคิดล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งคราวหน้าทุกพรรคถูกบังคับให้เสนอชื่อนายกไม่เกินสามคน โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งเชื่อว่าหลังเลือกตั้งแล้วน่าจะได้นายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวอีกว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดหรือเปล่า เพราะถ้าไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อก็เชื่อว่าโอกาสที่จะไปถึงการเลือกนายกฯคนนอกน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่ในส่วนของพรรค รปช.ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่าจะทาบทาม พลเอก ประยุทธ์ มาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคหรือไม่ เพราะยังมีเวลาในการตัดสินใจ รวมถึงกรรมการบริหารพรรคชุดนี้เป็นกรรมการบริหารพรรคชั่วคราว ก่อนที่จะมีกรรมการบริหารพรรคถาวรจากการเลือกของที่ประชุมสมัชชาพรรคต่อไป

ส่วนกรณีการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในอนาคตหรือไม่นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า เท่าที่เห็นในขณะนี้ยังไม่คิดว่ามีอุดมการณ์หรือนโยบายที่ขัดแย้งกัน จึงคาดว่าจะร่วมรัฐบาลได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เพราะอาจมีการแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ หรือย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

สำหรับกระแสดูดอดีต ส.ส.นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ในส่วนของ รปช.ไม่ได้ดูด ส.ส.และไม่อยากให้ใช้คำนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องธรรมดาที่อดีต ส.ส.จะตัดสินใจไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่

ในขณะเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคฯ กล่าวว่า ตนยังยืนยันว่าภูมิใจที่จะยืนเคียงข้างพรรคการเมืองนี้และจะทำงานอย่างทุ่มเทกับทุกคน และจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองนี้ ตนตั้งใจจะเป็นผู้รับใช้ประชาชนเพื่อสร้างพรรคการเมืองนี้ อีกทั้งจะไม่ลงสมัครส.ส. ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ แต่จะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยพรรคทั่วประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าพรรคฯ จะได้เป็นรัฐบาล ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่หมอดู แต่ด้วยความที่อยู่ในการเมืองมานาน และพรรคเราเป็นพรรคของประชาชนแท้จริง ใคร ๆ ก็อยากคบด้วย และภายหลังการเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลพรรคเดียวแน่นอน แต่จะเป็นรัฐบาลผสม ถึงเวลานั้นก็รอรับขันหมากได้เลย

“ผมจะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาล ผมจะสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ โดยผมจะทำหน้าที่เป็นโค้ชและพี่เลี้ยงและนำประสบการณ์ของผมกว่า 40 ปีไปช่วยงานต่อไป เป็นการตอกย้ำว่าผมเองยังรักษาคำพูด และการตั้งพรรคการเมืองนี้ไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตัวเพราะตั้งใจรับใช้ประชาชน” นายสุเทพ กล่าว