ที่มาแห่งเทศกาลตรุษจีนและกลเม็ดเคล็ดลับความปังพร้อมจุดท่องเที่ยว อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ
( รูปตัวปิศาจเหนียน )
ที่มาของวันตรุษ ปีศาจเหนียนกับเง็กเซียนฮ่องเต้
ในยุคสมัยอดีตนานโพ้น บนผืนแผ่นดินก่อนที่มาเป็นจงกั๋วหรือประเทศจีนในปัจจุบัน ยุคแห่งปกรณ์นัม ตำนานปรัมปรา ยุคแห่งเทพเซียน ได้มี “เหนียน” สัตว์ประหลาด หัวมีขนรุงรัง ลำตัวใหญ่กว่าสิงโตถึง 2 เท่า มีเขี้ยวที่ยาวและคม ดุร้ายกระหายเลือด มันชอบอาศัยในทะเลลึก แต่พอถึงเวลามันก็จะขึ้นฝั่ง มาทำร้ายเข่นฆ่าผู้คนและ สัตว์เลี้ยง เพื่อจับกินเป็นอาหาร จนทำให้ผู้คนหวาดกลัวกันมาก สวรรค์จึงลงโทษให้เหนียน กลายเป็นหิน แต่คำสาปนี้จะคลายลงในทุกๆวันสิ้นปี ก่อนที่จะกลายมาเป็นหินอีกครั้ง เมื่อแสงอาทิตย์แรกของวันปีใหม่จีนส่องลงมา ดังนั้นทุกปีพอถึงวันสิ้นปี ผู้คนในหมู่บ้านบนภูเขา ต่างก็อุ้มลูกจูงหลานเข้าไปในหุบเขาลึก เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ปีศาจเหนียนมาทำร้าย
ร้อนถึงถึงพระอินทร์ เอ๊ย! ไม่ใช่ ความเดือดร้อนนี้คงร้อนไปถึงสวรรค์จึงดลบันดาลให้มีคนดีมีปัญญาเข้ามาแก้ไขในเหตุการณ์นี้ ช่วงวันสิ้นปีในปีหนึ่ง( ปีไหนไม่รู้ เพราะนานมาก แหะๆ ) คนในหมู่บ้านแถบพื้นที่ที่เคยประสบภัยต่างก็กำลังพากัน หอบลูกจูงหลานไปหลบภัยบนภูเขาเช่นเดิม เพราะรู้ว่าเดี๋ยวเจ้าเหนียนมันมาแน่แต่จังหวะชุลมุนกันอยู่นั้น พลันมี ชายชรา แต่งกายคล้ายขอทาน เคราขาว คนหนึ่งมาจากนอกหมู่บ้าน เข้ามายังหมู่บ้านนี้ ในขณะที่ทุกคนต่างตกอยู่ในสภาวะ ร้อนรนหวาดกลัว จึงไม่มีใครสนใจชายแก่ขอทานคนนี้ มีเพียง หญิงชรา คนหนึ่งได้พบเและบริจาคอาหารตามที่ชายชราขอ พร้อมกับเตือนว่าให้รีบขึ้นเขาถ้าลื้อไม่อยากซี้ม่องเท่งให้ไปหาซ่อนตัวซะจาก ปีศาจเหนียน
ชายแก่ผู้นั้นกลับหัวเราะ เคี๊ยกๆๆ ( แบบตัวร้ายในหนังจีนกำลังภายใน ) พร้อมกล่าวว่า “หากแม้นว่าท่านให้ข้าพักที่นี่หนึ่งคืน ข้าจะขับไล่ปีศาจเหนียนให้ท่าน” หญิงชรามองเขาด้วยความสงสัย อาจจะปนสมเพชเล็กๆประมาณว่าน้ำหน้าอย่างลื้อเนี่ยนะ แต่ก็อนุญาตให้ชายชราผู้นั้นเข้าพักที่บ้านของนางส่วนตัวนางก็เร่งรีบเดินทางขึ้นเขาไปหลบภัย
ด้านปีศาจเหนียนของเราก็มาตามเวลานัด พอถึงเที่ยงคืนก็ตรงดิ่งมายังหมู่บ้าน มันพบว่า บรรยากาศในหมู่บ้านเงียบสงัด เจ้าเหนียนเราเดินหาเหยื่อด้วยความหงุดหงิดพร้อมคิดว่าวันนี้คงท้องกิ่วหิวอีกล่ะมั้ง เดินไปเดินมาจนมาเจอบ้านของยายแก่คนนั้นทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน บนบานประตูแปะกระดาษสีแดง ในบ้านจุดเทียนสว่างไสว น้องปีศาจเหนียนเห็นแบบนั้นก็ตัวสั่นด้วยความดีใจพร้อมกับเลียลิ้นแผล่บ จากนั้นมันส่งเสียงร้องออกมา จากนั้นมันก็วิ่งเข้าไปอย่างบ้าคลั่ง พอเข้าไปใกล้ประตู ภายในบ้านก็มีเสียงดัง “ปังๆ” ขึ้นมาแบบรัวๆ ทำให้ปีศาจเหนียนตกใจตัวสั่น เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนคิดว่าสวรรค์คงลงทัณฑ์ตูให้แล้วพร้อมกับเผ่นแน่บไปไม่เหลียวหลัง เช้าวันถัดมาในวันขึ้นปีใหม่ ผู้คนที่ไปหลบภัยก็ทยอย กลับมาแต่ก็ต้องใจตกใจที่หมู่บ้านของตนยังอยู่ดีมีสุขสภาพเหมือนตอนจากไปยังไงยังงั้น ไม่เหมือนกับทุกปีที่ปีศาจเหนียนเคยมาอาละวาด หญิงชราก็นึกขึ้นได้ว่าน่าจะเกิดจากคำสัญญาของชายชราขอทาน ชาวบ้านเกิดความสงสัยว่าจะใช่แน่เหรอก็เลยมุ่งหน้าไปบ้านของหญิงชรา ก็พบว่ามีกระดาษสีแดงที่แปะอยู่หน้าประตู ภายในสวนมีไม้ไผ่กองหนึ่งที่ยังเผาไหม้ไม่หมด และยังคงส่งเสียงระเบิดเป๊าะแป๊ะ ภายในบ้านยังมีเทียนสีแดงที่ยังคงมีแสงสว่างเหลืออยู่ ทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่า ปีศาจเหนียนนั้นกลัวสีแดง แสงไฟ และเสียงดังๆที่สุด นับแต่นั้นเป็นต้นมาในทุกๆคืนวันสิ้นปี ทุกบ้านก็จะแปะกระดาษสีแดง จุดประทัดเสียงดัง แต่ละบ้านจุดไฟสว่างไสว เพื่อไล่ปีศาจร้ายเหนียน และเฝ้ารอเวลาให้แสงอาทิตย์ของวันปีใหม่ขึ้นอย่างสงบสุข เหล่าชาวบ้านและหญิงชราได้พากันตามหา ชายชราขอทานคนนั้นแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ เหล่าชาวบ้านจึงสันนิษฐานเอาว่า
แท้จริงแล้วชายชราขอทานคนนั้น คือ เง็กเซียนฮ่องเต้ แน่ๆ แปลงกายลงมาเพื่อบอกวิธีกำราบปีศาจเหนียน ให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนนั่นเอง และนี่คือที่มาของตำนานที่ว่าทำไมวันตรุษจีน ผู้คนต่างต้องใส่เสื้อสีแดง ประดับโคมไฟ สีแดง และจุดประทัดกัน
(ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก www.museumthailand.com)
( รูปเทศกาลตรุษจีน )
วันจ่าย ต้องจ่ายเพื่ออะไร
เทศกาลตรุษจีนสำหรับคนไทยเรามักจะรู้แค่ว่ามีวันสำคัญเพียงสามวันคือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว แต่จริงๆแล้วตามประเพณีโบราณจะมีการเฉลิมฉลองกันนานกว่า 15 วัน แต่มีอยู่ 3 วันที่ถือเป็นหลักปฏิบัติสำคัญเน้นๆกันมาโดยตลอดตามที่ได้กล่าวไปทีนี้เรามาดูกันว่าที่ว่าวันจ่าย เราต้องจ่ายอะไรและเพื่อวัตถุประสงค์ใด นั่นคือวันจ่าย เป็นวันที่เราผู้มีเชื้อสายจีนหรือไม่มีเชื้อจีนแต่อยากไหว้เพื่อความสิริมงคลออกไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ รวมทั้งเครื่องเช่นไหว้ เพื่อเตรียมการไว้สำหรับดำเนินพิธีการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ โดยปกติจะตรงกับวันก่อนสิ้นปี ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เพราะฉะนั้นคำตอบที่ถามว่าเราต้องจ่ายอะไรคือ จ่ายเงินนั่นเอง ส่วนจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ตามประเพณีที่มีนัยยะแฝงอันจะกล่าวในหัวข้อถัดไป แล้วเราต้องจ่ายเพื่อซื้ออะไรบ้างล่ะ?
หลักๆก็คือการซื้ออาหาร ขนม หรือผลไม้มงคลมาเซ่นไหว้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญในเทศกาลตรุษจีน ทีนี้เราลองมาดูกันว่าของไหว้ต่าง ๆ นั้นมีความหมายตามความเชื่อว่าอย่างไรและทำไมต้องเป็นของชนิดนั้น
ไก่ หมายถึง เกียรติยศและความก้าวหน้า
เป็ด หมายถึง ความสามารถรอบด้าน
หมู ปลา และปลาหมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
หมี่ซั่วหรือบะหมี่เส้นยาว หมายถึง อายุยืนยาว
สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง มั่งคั่งร่ำรวย
เกาลัด หมายถึง เงิน
ขนมเทียนกับขนมเข่ง หมายถึง ชีวิตที่หวานชื่น และราบรื่น กลมเกลียว
ขนมถ้วยฟู/สาลี่ หมายถึง รุ่งเรือง เฟื่องฟู
ซาลาเปาและหมั่นโถว หมายถึง โชคลาภ
ขนมจันอับ หมายถึง การมีความสุขที่ยั่งยืน
ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญ
ส้มสีทอง หมายถึง ความเป็นสิริมงคล
กล้วย หมายถึง โชคลาภ ความร่ำรวย มีลูกหลานเต็มบ้าน ได้อะไรมาง่ายๆ
สาลี่ทอง หมายถึง โชคลาภ เงินทองไหลลื่น
แอปเปิลแดง หมายถึง แข็งแรง ปราศจากโรคภัย
ทับทิม หมายถึง ครอบครัวอบอุ่น ปราศจากความขัดแย้ง
สับปะรด หมายถึง โชคดี
องุ่นแดง หมายถึง รุ่งเรือง เติบโต
อีกทั้งยังมีเครื่องประกอบการเซ่นไหว้อย่าง เสื้อผ้าที่ควรเป็นชุดใหม่สีมงคลๆอย่างสีแดง กระดาษเงินกระดาษทอง งิ๋นเตี๋ย ประทัด เหล้าและอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือจ่ายตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดแค่เลือกซื้อเลือกจ่ายให้เหมาะกับเงินในกระเป๋าเราเป็นดีที่สุดเพราะทั้งเทพเจ้าและวิญญาณบรรพบุรษคงไม่ปลื้มแน่ๆถ้าหลังการไหว้แล้วลูกหลานต้องมาเป็นหนี้เพื่อที่จะซื้อของมาเซ่นไหว้หรือพอถึงเทศกาลแล้วมานั่งทะเลาะกันเพราะเกี่ยงกันจ่ายเงินซื้อของ
( รูปเทศกาลตรุษจีน )
วันไหว้ ควรไหว้ใคร
แล้วเราจะจ่ายเงินซื้อเยอะแยะไปทำอะไรล่ะ จริงๆคำตอบก็อยู่ในตัวอยู่แล้วว่าเพื่อไหว้เทพเจ้าและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษเพื่อหวังว่าหลังจากเซ่นไหว้แล้วจะมีสิ่งดีๆกลับมาสู่ลูกหลานของผู้ทำการเซ่นไหว้ ในวันนี้จะมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ บรรพบุรุษ พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญตาม คติ ของชาวจีน นอกจากเซ่นไหว้กันด้วยอาหารทั้งควาหวานแล้ว ยังมีการเผากระดาษเงินกระดาษ ทอง และเสื้อผ้ากระดาษเพื่อเป็นการอุทิศให้ผู้ล่วงลับอีกด้วยซึ่งในขั้นตอนนี้ก็มีการประชันกันเล็กๆแบบขำๆ ( รึเปล่านิ ) ในหมู่ญาติๆ ที่จะทำการเผา รถกระดาษแพงๆ บ้านกระดาษจำลองหรูๆและอีกมากมายแล้วแต่จะสรรหามาขิงกัน ทั้งที่ก็ไม่มั่นใจว่าที่เผาไปให้ได้รับกันจริงไหม เพราะไม่มีใครกลับมาบอกสักคน จากนั้น ก็เป็นเวลาปาร์ตี้ สมาชิกในครอบครัวจะใช้เวลาร่วมรับประทานอาหารที่ใช้เซ่นไหว้เพื่อเป็น สิริมงคล จุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้าย ( แต่ถ้าบ้านไหนมีน้องหมาขอวอนว่าอย่าจุดเลย น้องๆกลัว ) รวมทั้งยังมีการมอบ หรือแลกเปลี่ยนเงินในซองแดงที่เรียกว่าอั่งเปา
โดยวันไหว้ในปี พศ.2567 นี้ ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์
โดยขั้นตอนการไหว้ในวันไหว้ของเทศกาลตรุษจีนนั้น ตอนเช้ามืด จะเป็นการไหว้ “ป้ายเล่าเอ๊ย” (拜老爺/拜老爷) คือการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องสำรับไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ที่เรียกแบบจีนว่า ซาแซ หรือ ซาเช้ง ประกอบด้วย หมู เปิด ไก่ หรืออาจจะเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง ที่เรียกว่า ก็ได้ ตามาด้วย เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตกตอนสาย จะเข้าสู่การไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” (拜父母) อันเป็น การไหว้วิญาณบรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว สื่อถึงการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย
เนื้อสัตว์สามอย่างหรือที่เรียกว่า ซาแซ อาหารคาวหวานโดยมากมักจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ แต่ปัจุบันมีการปรับให้เป็นเมนูมงคลความหมายดีๆหรือที่คนไหว้อยากกินก็มี หลังธูปไหว้หมดดอกก็ทำการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมาร่วมกันรับประทาน
อาหารที่ได้จัดเช่นไหว้ในตอนแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งอันนี้คือจุดประสงค์ความนัยแฝงที่ถือเป็นการทำให้เกิดการใช้เวลากับครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลที่หาเวลารวมตัวกันได้ยากมากที่สุด หลังจากทานอาหารเสร็จก็เป็นเวลาที่เด็กๆในบางครอบครัวชอบที่สุดเพราะจะมีการแจกหรือแลกเปลี่ยนเงินในซองแดงหรืออั่งเปาก็ตอนนี้
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ที่มีการไหว้วิญาณบรรพบุรุษทางเราเหล่าชาวไทยเชื้อสายจีนก็เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งการไหว้ นั่นคือการไหว้แม่ย่านางหรือสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่คุ้มครองยานพาหนะคู่ใจที่เราใช้เป็นประจำโดยของที่ใช้ไหว้ก็แบ่งจากเนื้อสัตว์และขนมก่อนที่จะทำการไหว้นั่นเอง อันนี้เป็นการไหว้แบบไทยสไตล์ เพราะที่จีนไม่มี
และขั้นตอนสุดท้าย ตอนบ่าย จะเป็นการไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” (拜好兄弟) เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องเซ่นไหว้จะเป็น จำพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่ สิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่บางบ้านก็รวมไว้ในขั้นตอนไหว้ช่วงสายเพื่อประหยัดเวลาอันนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกของใครของมันครับ ไม่มีผิดมีถูก เน้นสะดวกเงินและสบายใจได้รวมตัวญาติพี่น้องเป็นหลักดีที่สุดครับ
( รูปศาลเจ้าเส้นทางมังกร )
วันเที่ยว ก่อนเที่ยวควรไปมูที่ไหนและมูเสร็จจะไปเฟี้ยวบ้านใด
หลังจากทำการไหว้เทพเจ้าและวิญญาณบรรพบุรษเรียบร้อยแล้ว จัดเก็บบ้านล้างข้าวของเสร็จ วันรุ่งขึ้นเค้าถือเป็นวันพักผ่อน วันนี้ห้ามทำงานเน้นเฟี้ยวเที่ยวสะบัดงานการอะไรเอาไว้ทีหลัง ( เอาจริงๆคงลำบากเพราะส่วนใหญ่เค้าให้ลาแค่วันไหว้เท่านั้นแหละ ฮือๆ ) วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่จริงๆ นับเป็นวันที่หนึ่ง (初 อ่านว่า ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี คนละอันกับวันแฮปปี้นิวเยียร์ 1 มกราคม นะจ๊ะ อันนั้นของฝั่งตะวันตกเค้า โดยวันนี้ชาวจีน จะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและ อวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียง ภาษาแต้จิ๋วว่า “กิก” (橘) ซึ่งเสียงไปพ้องกับ คำว่า ความสุขหรือโชคลาภ
吉 แปลว่า โชคลาภ ใน ภาษา ฮกเกี้ยน และ ภาษากวางตุ้ง เรียกส้มว่า “ก้าม” (柑) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง (金) ดังนั้นการ ให้ส้มก็เหมือนนำเอาความสุขหรือโชคลาภไปให้ โดยจะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริ มงคล งดการทำบาป และถือคติข้อห้ามบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาดกวาดบ้าน และ จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน ประมาณนี้จ้า
แต่ก่อนจะออกไปเฟี้ยวเที่ยวไหนก็อยากให้ไปเพิ่มความสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัวซะก่อนใครใกล้ที่ไหนก็ไปตามสะดวกน้า ส่วนจะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเล้ย
ปีนี้เป็นปีนักษัตรมะโรงคือ งูใหญ่หรือพญานาคของไทยแต่ถ้าเป็นพี่น้องชาวจีนจะถือเป็นปีมังกร ส่วนจะเป็นมังกรทอง มังกรไม้ มังกรน้ำ มังกรดินอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นชื่อว่ามังกร ชาวจีนรวมถึงคนไทยเชื้อสายจีนมีความเชื่อกันว่า “มังกร” คือสัตว์ที่ทรงพลังอำนาจและมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นหนึ่งในจ้าวแห่งท้องฟ้าและผืนดิน เป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่จาก ธรรมชาติ เป็นความดีงาม พลังอำนาจ และความโชคดีสูงสุดเลยก็ว่าได้ และยังถือเป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง ส่วนมากพอพูดถึงเส้นทางแห่งพลังมังกร เรามักนึกถึงประเทศจีนเป็นหลักแต่ใครจะรู้บ้างว่าในประเทศไทยแลนด์แดนสยามของเรานั้นก็มีเส้นทางพลังแห่งมังกรด้วย และในช่วงวันตรุษจีนนี้ก่อนที่จะไปเที่ยวไหนเพื่อสร้างพลังแห่งความเป็นสิริมงคลโชคดีก็ควรไปรับพลังมังกรกันก่อน โดยเส้นทางเริ่มต้นจาก “วัดเล่งเน่ยยี่” ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ที่กล่าวกันว่าเป็นส่วนหัวของพญามังกร เชื่อกันว่าหากรับพลังส่วนนี้จะทำให้มีพลังอำนาจแห่งความเป็นผู้นำและสติปัญญาที่เฉียบแหลม มาถึงส่วนท้องของพญามังกรสถานที่แห่งนี้คือ
“วัดเล่งฮกยี่” จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เชื่อว่าหากรับพลังส่วนท้องจะทำให้ได้พลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ไม่อด และ สุดท้ายคือ “วัดเล่งฮัวยี่” จังหวัดจันทบุรี อันเป็นส่วนหางของพญามังกร ที่หากไปกราบไหว้จะได้รับพลังแห่งการผ่านพ้นอุปสรรค สำเร็จกิจการดั่งใจหมาย ดุจดั่งหางของพญามังกรที่โบกสะบัดเพื่อขับเคลื่อน
องคาพยบ ครบทั้งตัวมังกร ตามความเชื่อจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลนานัปการ ให้ตรุษจีนปีมังกร 2567 นี้ เฮงเฮงตลอดไป
จบจากมูเตลูก็เข้าสู่การท่องเที่ยวซึ่งปีนี้ก็มีหลายจังหวัดจัดกิจกรรมเทศกาลตรุษจีนที่น่าชมน่าเที่ยวมากมายแต่ด้วยอยากให้เที่ยวไทยเลยขอยกมาให้แค่ในประเทศนะครับ
เริ่มกันที่ เทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2567
จัดขึ้นวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร
มังกรทองนครลำปาง Chinatown@Lampang 2024
จัดขึ้นวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. ณ บริเวณถนนประสานไมตรี อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
เทศกาลตรุษจีนมุก ประจำปี 2567
จัดขึ้นวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:00-22:00 น. ณ เซนเตอร์พอยท์ สี่แยกชั้นนำ จังหวัดมุกดาหาร
ชมบอลลูน เที่ยวสวนดอกไม้ป้านกเอี้ยงรับตรุษจีน (Chinese New Year Celebrations)
จัดขึ้นวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 เริ่มเวลา 16:30-19:30 น. ณ สวนดอกไม้ป้านกเอี้ยง อำเภอแม่ริม จังหวัด เชียงใหม่
ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ จังหวัดชลบุรี
จัดขึ้นวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2567 และยังมีพิธีตามความเชื่อของคนไทย-จีน โบราณที่จะถูกจัดขึ้นวันที่ 28 มกราคม 2567 และ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี
เทศกาลตรุษจีนหาดใหญ่ 2567
จัดขึ้นวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเรียนศรีนครมูลนิธิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ตรุษจีนปากน้ำโพ 2567
จัดขึ้นวันที่ 3-14 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 12 วัน 12 คืน ณ บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณถนนเลียบแม่น้ำ เจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
เล่ง เกีย ลู่ สืบสานตำนานมังกร 2567
จัดขึ้นวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
ตรุษจีนนครตรัง 2567
จัดขึ้นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณถนนพระรามหก (บริเวณหอนาฬิกา ถึงหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง) จังหวัดตรัง
ตรุษจีนปากเพรียว 2567
วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงเจบ้วนเฮงตัว และถนนพิชัยฯ ซอย 7-8 จังหวัดสระบุรี
งานมหัศจรรย์ 16 ปี มังกรสวรรค์ ประจําปี 2567
จัดขึ้นวันที่ 10-21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
เทศกาลตรุษจีนโคราช 2567
จัดขึ้นวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ลานย่าโม-ศาลหลักเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เทศกาลตรุษจีน “ราชบุรี” ดินแดนมังกร ร่ำรวย เสริมบารมี ปีมังกรทอง
จัดขึ้นวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00-22.00 น. ณ ริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา-ตลาดโคยกี่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ททท.
ในแต่ละสถานที่ที่จัดงานมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปความสนุกและสวยงามนั้นมีครบอย่างแน่นอนเพียงแต่หากจะให้บรรยายความสนุกและสวยงามของแต่ละที่คอลัมน์นี้คงกลายเป็นคอลัมน์ท่องเที่ยวและมันจะยาวไปเลยขอลงไว้แต่พิกัดความสนุก แต่หากวันใดทาง ททท. เมตตามาเป็นผู้สนับสนุนคอลัมน์ให้ผมรับรองว่าจะเขียนให้ละเอียดและเห็นภาพในหัวขณะอ่านเลย อิๆ
คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ
เขียนโดย
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ
ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น