นักกษัตรสัตว์เทพ

613

อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ

แปบๆจะหมดปีตอนที่เขียนต้นฉบับบคอลัมน์พระบ้านนี้ก็ล่วงเข้าธันวาคม ปีพุทธศักราช 2566 เดือนหน้าก็จะเข้าสู่วาระดิถีขึ้นปีใหม่ ที่มิตรรักนักอ่านหลายท่านตั้งใจใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าปีเก่าที่กำลังจะผ่านไป ทางกระผม นายต้น คนชอบพระก็ขอถือโอกาสนี้กราบขอบพระคุณ มิตรรักนักอ่านทุกท่านที่ติดตามผลงานของกระผม โดยหลักๆคอลัมน์พระบ้านนี้จะเน้นไปที่การแนะนำวัตถุมงคลที่ใช้ดี มีอนาคต ราคาจับต้องได้ซึ่งบางทีบางท่านมีอยู่ในหิ้งพระที่บ้านอีกทั้งคอลัมน์นี้ยังมีวัตถุประสงค์จะเผยแผ่คุณงามความดีจริยาวัตรอันงดงามและพลังจิตแห่งธรรมอันเข้มขลังของบรรดาเกจิคณาจารย์ตามที่ได้เขียนลงในคอลัมน์ขณะเดียวกันกระผมก็ยังคิดว่าถ้านอกจากเรืีองราวตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังนำเอาตำนานต่างๆที่เกี่ยวกับข่าวคราวเรื่องราวต่างๆที่สนุกและผูกติดกับการนำมาสร้างวัตถุมงคลด้วยน่าจะดีไม่น้อย ซึ่งก็ได้นำมาลงในหลายตอนให้ท่านผู้อ่านที่น่ารักได้ลองอ่านผ่านตากัน ชอบไม่ชอบยังไงแจ้งผ่านเพจ เฟสบุ๊ค ของไทยแทบลอยด์ กันได้นะฮับ จะได้นำความเห็นที่ดีมีสาระ มาปรับปรุงการเขียนให้ดีขึ้นครับ

ปีหน้าปีพุทธศักราช 2567 ตามปีนักกัษตรแล้วจัดเป็นปีมะโรง อันว่าปีมะโรงนี้หมายถึงงูเทพหรืองูใหญ่ คนไทยอาจนึกถึง พญานาค แต่ถ้าเป็นคนไทยเชื้อสายจีนจะนึกถึง หลงหรือ เล็ง ที่แปลว่า พญามังกร วัตถุมงคลของเกจิหลายท่านก็สร้างโดยใช้มังกรเป็นอุปเท่ห์ ในวาระนี้กระผมจึงขอเล่าถึงเรื่องราวของชาวมังกร ที่มักถูกกล่าวเล่าขานว่าเป็นเผ่าพันธ์ุที่แข็งแกร่งประดุจเทพ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังและความมงคล



( รูปเหรียญมังกรคู่ )

เผ่าพงศ์วงมังกร

มังกรนั้นมีตำนานเล่าขานกันทั่วโลก ทั้งด้านฝั่งยุโรปที่เป็นมังกรมี 4 ขา มีปีก พ่นไฟได้ นิสัยค่อนข้างจะดุร้าย เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเหล่าอัศวิน เรียกขานว่า ดราก้อน (dragon) มาฝั่งเอเชียเราเค้ามีนามเรียกขานว่า หลง เล้ง แล้วแต่สำเนียง อันนี้เป็นมังกรที่เราคุ้นเคยและเป็นเผ่าพันธุ์ที่เป็นพระเอกของคอลัมน์ในวันนี้ ส่วนน้อนบาบิก้อน เอ๊ย! ดราก้อน เราจะพูดถึงกันในคราวถัดไป ในสมัยโบราณนั้นชาวจีนได้มีการจัดทำ ตำรามังกร ซึ่งเป็นการรวบรวมประวัติ เผ่าพันธุ์และลักษณะของมังกรไว้อย่างละเอียดที่สุด แต่เนื่องผ่านเวลามาเนิ่นนานตำราเหล่านั้น ได้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว การศึกษาเรื่องมังกรจีนในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงแค่การศึกษาจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวจีนเท่านั้น

ตำนานในสมัยโบราณของจีน มี เจ้าแม่นึ่งออ หรือ หนี่วา มีลักษณะลำตัวเป็นคน แต่หัวเป็นงู ซึ่งในบาง ตำราก็มีการบอกต่อ ๆ กันมาว่าว่ามีลำตัวตัวท่อนบนเป็นคน แต่ท่อนล่างเป็นงู เมื่อเจ้าแม่นึ่งออสิ้นอายุไข นางได้ตายไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี แต่ศพของนางกลับไม่เน่าเปื่อย และเมื่อมีคนลองเอามีดฝาท้องของนางดู ก็ ปรากฏมีมังกรเหลืองตัวหนึ่งพุ่งออกมาแล้วเหาะขึ้นฟ้าไป

ส่วนคัมภีร์ดึกดำบรรพ์ของจีนกล่าวกันว่า มังกร ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของ พระเจ้าฟูฮี หรือเมื่อประมาณ 3,935 ปีก่อนพุทธกาล เล่าขานว่า มีมังกรอยู่ตัวหนึ่งเป็นเจ้าเหนือน่านน้ำทั้งปวงเป็นระยะเวลาหลายพันปี ซึ่งจริงๆแล้วมังกรตัวนั้นก็คือ พระเจ้าฟูฮี แปลงร่าง พระเจ้าฟูฮีนั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างมาก เป็นผู้สร้างหลัก ธรรมแห่ง หยิน-หยาง ที่ว่ากันว่าเป็น ธรรมะบทแรกของโลก อีกทั้งยังคิดประดิษฐ์ของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ยันต์แปดทิศ อีกทั้งยังทรงเป็นผู้กำหนดให้ชายหญิงมีการหมั้นหมายกันเพื่อเป็นคู่ครองอีกด้วย

อีกตำนานหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า มังกรได้ถือกำเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอิ๋งตี อึ้งตี๋ หรือหวงตี้ ทรงเป็นกษัตริย์ที่รวบรวมเผ่าและแผ่นดินจีนไว้เป็นอาณาเขตเดียวกัน โดยพระองค์ได้ทรงสร้าง จินตนาการรูปมังกรขึ้นมา จากการรวมสัญลักษณ์ของเผ่าต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มังกรกลายเป็น สัญลักษณ์ว่าเผ่าต่าง ๆ ได้รวมกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อพระเจ้าหวงตี้สิ้น อายุไข ก็มีมังกรจากฟ้าลงมารับพระองค์และพระมเหสีขึ้นไปเป็นเซียนบนสวรรค์ โดยบางตำราได้กล่าวว่า พระองค์นั้นเป็นหวงตี้องค์เดียวกับที่ได้เป็นเจ้าสวรรค์ หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ในเวลาต่อมา เพราะเหตุนี้ชาวจีน จึงถือว่ามังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง

( รูปม้านิลมังกร )

ความเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับมังกรของคนจีน คือการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสัตว์ ต่าง ๆ เช่น ข้างหมูและม้า ซึ่งถือว่าสัตว์เหล่านี้เป็นเชื้อสายของมังกรเช่นกัน คนจีนใช้มังกรเป็น สัญลักษณ์แทนปีนักกษัตรมะโรงซึ่งจะต่างกับคนไทยที่ใช้พญานาค ตำนานการนำสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์ของปีต่างๆ จีนคือผู้ที่คิดค้นแรกเริ่มตั้งแต่ราว 2,700 ปีมาแล้ว ช่วง หลังราชวงศ์โจวตะวันออก เล็กน้อย หลักฐานที่ยืนยันว่าจีนเป็นคนคิดปรากฏอยู่บนแจกันสำริด ที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติไทเป ประเทศไต้หวัน ภายในห้องแสดงสำริดโบราณ ในเรื่องการผสมข้าม สายพันธุ์ของมังกรนั้น มีตัวอย่างลูกหลานของมังกรได้แก่ ม้านิลมังกรในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี ส่วนภาคเหนือของประเทศไทยนั้น นับเป็นปีนักษัตรคือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน ทางภาคเหนือใช้ช้างแทนหมูเป็นสัตว์สัญลักษณ์ปีกุน เพราะเชื่อกันว่าช้างเป็นผู้สืบเชื้อสายมังกรด้วยเช่นกันเลยแทนกันได้ ป๊าด!เพิ่งรู้นะเนี่ย

มังกรจีนมีวงจรชีวิต (dragon life cycle) ตั้งแต่เกิดจนอายุ 4,000 ปี จึงจะเป็นมังกรตัวโตเต็มวัยไข่มังกรจะมีลักษณะเป็นอัญมณีรูปไข่ โดยแม่มังกรจะวางไข่ที่ริมฝั่งแม่น้ำและฝังไว้ลึกจนไม่ถูกรบกวนโดยใครหรืออะไร ระยะเวลา 1,000 ปี ไข่มังกรจึงจะฟักออกมาเป็นตัว 500 ปีต่อมา ลูกมังกรจะเจริญเติบโตขึ้น และจะเรียกลูกมังกร ว่า ไคอาส (Kias, มังกรมีเกล็ด) ลูกมังกรจีนมีลักษณะเหมือนกับงูน้ำและหัวของปลาคาร์พผสมกัน และจะ ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ขั้นนี้เรียกว่า ไคโอะ (Kio) 1,000 ปีถัดไป ลูกมังกรจะถูกเรียกว่า หลง (lung, มังกรตามมาตรฐาน) ซึ่งคือมังกรตามที่เราๆรู้จัก รยางค์และ เกล็ดของมังกรจะค่อยๆเจริญ ความยาวของลูกมังกรจะเพิ่มขึ้น และเริ่มมีหนวดเครา 500 ปีต่อมา เขาจะเริ่มงอก ตอนนี้มังกรสามารถได้ยินเสียง และจะเป็นที่รู้จักในฐานะของ ไคโอ หลง (Kioh-Lung, มีเขา) 1,000 ปีต่อมาปีกจะเริ่มงอก จะถูกรู้จักในฐานะ ยิ่น หลง (มังกรมีปีก) และถือเป็นมังกรที่โตเต็มวัย (นี่มันบทสารคดีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคชัดๆละเอียดมาก)

นิ้วของมังกรจีนในแต่ละเท้าจะมี 4 หรือ 5 นิ้ว ถ้ามี 4 นิ้วเป็นมังกรทั่วไป แต่ถ้ามี 5 นิ้ว เป็นมังกรหลวงหรือราชันมังกร ซึ่งสมัยก่อนจักรพรรดิจีนนำมาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งอำนาจโดยกำหนดว่าเฉพาะฮ่องเต้เท่านั้น ที่สามารถใช้สิ่งของที่มีรูปมังกรหลวง 5 เล็บประดับอยู่ถ้ามีคนอื่นใช้จะถูก ประหาร น้ำลายจากมังกรจะทำให้เกิดลูกทรงกลมวิเศษซึ่งเรียกว่า ไข่มุกพลังดวงจันทร์ และ ไข่แห่งความอุดมสมบูรณ์ น่าจะประมาณดราก้อนบอลแหละ เลือดของมังกรถ้าซึมเข้าไปในแผ่นดินจะเปลี่ยนกลายเป็นอำพัน

เผ่าของมังกรจีน

คนจีนมีคติความเชื่อว่ามังกรของจีนแต่สมัยโบราณนั้นสามารถแบ่ง แยกออกเป็น 9 เผ่า การแบ่งชนิดของมังกรนั้นในแต่ละตำราก็มีการ แบ่งที่แตกต่างกันออกไป บางตำราบอกว่าแบ่งได้เป็น 3 เผ่า คือ

(1)​ มังกรแท้ ชิวเล้ง เป็นมังกรขนาดใหญ่ มีเขาและปีก เป็นพวกที่มี อำนาจมากที่สุด เป็นใหญ่เหนือมังกรทั้งปวง อาศัยอยู่บนฟ้า หรือบนสวรรค์

(2)มังกรหลี่ หรือ ลี่ เป็นมังกรไม่มีเขา อาศัยอยู่ในมหาสมุทร

(3)มังกร(จียว หรือ เฉียว เป็นพวกมังกรมีเกล็ด อาศัยตามลุ่ม หนองหรือถ้ำตามภูเขา มีขนาดตัวเล็กกว่ามังกรที่อยู่บนท้องฟ้า มีหัวและลำคอเล็ก ไม่มีเขา หน้าอกเป็นสีเลือดหมูหรือสีน้ำตาลเข้ม ด้านข้างลำตัวและสันหลังมีลายแถบเป็นสีเขียวและสีเหลือง มี 4 ขา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับงู มีลำตัวยาวประมาณ 13 ฟุต บางตำราบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า หลง เป็นมังกรแห่งสวรรค์ หลี่ เป็นมังกรแห่งทะเล และเจียว เป็นมังกรแห่งภูเขาและที่ลุ่ม

ตำราบางเล่มได้เพิ่มมังกรจีนพื้นถิ่นเดิมที่เรียกว่า ก่วย เป็นมังกรที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายมังกรแท้ บุคลิกดูใจดี กล่าวกันว่ามันมีอำนาจในการต่อต้านกับความโลภและกิเลสทั้งปวง ชาวจีนนิยมนำมาเขียนเป็น ลวดลายบนภาชนะสำริดยุคโบราณต่าง ๆ

พญามังกร

จัดเป็นมังกรระดับสูง ในตำนานกล่าวว่ามีทั้งหมด 4 ตัว ซึ่งปกครองอยู่เหนือทะเลทั้งสี่ คือทะเล ตะวันออก(ตัง), ใต้(น้ำ) ตะวันตก (ไซ) และเหนือ(ปัก) พญามังกรอาศัยอยู่ในปราสาทมหาสมุทรหรูหราใต้ทะเล และกินไข่มุกเจียงดู หรือไข่มุก และโอปอล เป็นอาหาร และพญามังกรทั้งสี่ตัวเป็นพี่น้องกัน บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามังกร 4 ตัวนี้อยู่ภายใต้ผู้ควบคุมที่ชื่อ ฉิน แท็ง เป็นมังกรที่มีสีแดงเลือด มีแผงคอเป็นไฟ และยาว 900 ฟุต

มังกรนอกจากที่จะอยู่ในทะเล บินขึ้นไปยังสวรรค์ และขดตัวบนพื้นในรูปของภูเขา มังกรจีนยังสามารถปัดเป่าวิญญาณพเนจรชั่วร้าย ปกป้องผู้บริสุทธิ์ และให้ความปลอดภัยกับทุกคนที่ถือสัญลักษณ์ รูปมังกร อีกทั้งยังถือเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจและคุณงามความดี ความองอาจและความกล้าหาญ ความเป็นวีรบุรุษและความอุตสาหะ และความสูงส่งและความศักดิ์สิทธิ์ ความโชคดี ความเป็นมงคล และความมั่งคั่งอีกด้วย

คราวหน้ามาว่ากันต่อเรื่องตำนานมังกรครับ

เขียนโดย ต้น คนชอบพระ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ

ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ

สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น