ที่ห้องประชุมจูบีลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาของประชาชนและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเชิงพื้นที่ โดยมี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อาทิ ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดและสาขา กรุงเทพมหานคร โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด เข้าร่วมการประชุม จำนวนกว่า 2,000 คน
พล.อ.อนุพงษ์ ได้มอบนโยบาย ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) การจัดระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ในบทบาทผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ ซึ่งมีความซับซ้อนมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอต้องบูรณาการให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้ศูนย์อำนวยการร่วม ต้องมีการบริหารจัดการ มีแผนดำเนินการ แยกพื้นที่ปฏิบัติงานและผู้ไม่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน รอบรู้ในทุกข้อมูลทุกด้าน ซักซ้อมกระบวนการทำงานและการสื่อสารและสื่อมวลชนให้ได้ และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำการถอดบทเรียนกรณีการให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิต ถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนเผยแพร่ต่อไป
2) โครงการไทยนิยม ยั่งยืนให้มีการติดตาม หมู่บ้านที่ไม่ดำเนินโครงการให้พิจารณาความต้องการพัฒนาอีกครั้ง โดยยกตัวอย่างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตาม โครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสน) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการทั้งหมดจำนวน 91,384 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างอาชีพ/สร้างรายได้โดยตรง 17% สร้างอาชีพ/สร้างรายได้ทางอ้อม 14% ส่งเสริมคุณภาพชีวิต 69%
3) เน้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือที่เรียกว่าประชารัฐ
4) การพัฒนาระบบสื่อสารของกระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างเตรียมการให้ใช้กลไกการสื่อสารใน 2 รูปแบบเพื่อสร้างการรับรู้งานรัฐบาล และของกระทรวงให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ โดยได้จัดทำแอปพลิเคชั่นไลน์ ชื่อแอดมหาดไทย (@MAHADTHAI) และระบบ Digital Trunk Radio System
5) การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานให้พิจารณาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในรูปแบบที่เหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6) การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ให้จังหวัด อำเภอเร่งขับเคลื่อน กำกับ ดูแลการบริหารราชการจัดการขยะ โดยเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะมูลฝอย การวางระบบจัดเก็บให้เกิดประสิทธิภาพ และการจัดการและกำจัดขยะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสม ในพื้นที่ราชการและบริเวณที่สาธารณประโยชน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวทิ้งท้าย ให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้เป็นหลักในการบริหารจัดการในพื้นที่ โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ยึดถือความถูกต้องและผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ